หลวงพ่อเมียน กัลยาโณ วัดจะเนียงวนาราม (บ้านจะเนียง) ลูกศิษย์หลวงปู่สรวง

 หลวงพ่อเมียน กัลยาโณ วัดจะเนียงวนาราม (บ้านจะเนียง) ลูกศิษย์หลวงปู่สรวง


      "หลวงพ่อเมียน กัลยาโณ" แห่งวัดจะเนียงวนาราม จ.บุรีรัมย์ ได้รับการยกย่องว่า "เทพเจ้าแห่งบ้านจะเนียง" เป็นพระเกจิอาจารย์ ชื่อดังแห่งอีสานใต้


ปัจจุบัน สิริอายุ 80 พรรษา 53 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจะเนียงวนาราม ต.สูงเนิน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2479 ตรงกับวันอาทิตย์ ปีขาล ที่บ้านกุมกัน แห่งเมืองสวายตรึง ประเทศกัมพูชา

ในช่วงวัยหนุ่มมีความคึกคะนองตามประสา ชอบศึกษาวิทยาคมจากพระอาจารย์กัมพูชาถึง 12 ท่าน พระอาจารย์ที่หลวงพ่อให้ความสำคัญมาก คือ พระอาจารย์ลุน และศึกษาวิทยาคมกับอาจารย์สวาย ฆราวาสจอมขมังเวทชื่อดังแห่งเมืองสวายตรึง

จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงหันหน้าเข้าหาวัดมาศึกษาพระธรรมและปฏิบัติธรรม

อายุ 26 ปี อุปสมบทที่วัดยอดทอง อ.กำพงตราด จ.กำโปด ประเทศกัมพูชา เรียนทางสงฆ์จบที่กัมพูชา ฝึกฝนสมาธิและวิทยาคม จนเกิดความชำนาญกับพระอุปัชฌาย์ จนถึงปี พ.ศ.2518 จึงธุดงค์เข้ามาประเทศไทย จำพรรษาช่วยเหลือชาวบ้านบริเวณป่าช้าบ้านจะเนียง จนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา

ต่อมา ท่านสร้างวัดบ้านจะเนียง (จะเนียงวนาราม) จนทุกวันนี้ กลายมาเป็นศาสนสถานประจำหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าช้าของหมู่บ้านจะเนียง

หลวงพ่อเมียน ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์มิได้ขาด เป็นพระเกจิอาจารย์ในระดับชั้นนำของจังหวัดบุรีรัมย์ ท่านยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่เจียม อติสโย พระเกจิดังแห่งวัดอินทราสุภาราม จ.สุรินทร์ ด้วยเป็นคนบ้านเดียวกันและบวชเรียนมาด้วยกัน

รวมทั้งเป็นสหธรรมิกรุ่นน้องกับหลวงปู่ธรรมรังษี วัดพระพุทธบาทพนมดิน อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อีกด้วย

กล่าวถึง "บ้านจะเนียง" เป็นชุมชนขนาดเล็ก ในปีพ.ศ.2485 ตั้งเป็นหมู่บ้านจะเนียง หมู่ที่ 15 อยู่ในเขตปกครองของ ต.สองชั้น ต่อมาเมื่อมีการ แยกตำบล บ้านจะเนียงจึงอยู่ในเขตปกครองของ ต.บ้านปรือ หมู่ที่ 7 และปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของต.สูงเนิน หมู่ที่ 5

ทั้งนี้ พื้นที่หมู่บ้าน สภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย เก็บน้ำไว้ไม่ดี มีหนองน้ำอยู่ 3 แห่ง คือหนองใหญ่ หนองเล็กและหนองหลวงเตี้ย แต่มีแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หมู่บ้านจึงมีสภาพแห้งแล้งทำการเกษตรไม่ได้ผล ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ต้องอพยพไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดหลังฤดูเก็บเกี่ยวและฝากลูกหลานไว้ให้ตายายที่ชราภาพเลี้ยงดู

เชื่อว่าหากพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้ขอพร จะช่วยให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว

หลวงพ่อเมียนมีอุบายอันแยบคายในการใช้วัตรปฏิบัติส่วนตัว เป็นเครื่องมือสำหรับการอบรม สั่งสอน ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร

ขณะเดียวกัน ยังให้ความเมตตาแก่ประชาชนทุกระดับ เมื่อได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ตามงานบุญทั่วไป หรืองานฌาปนกิจศพไร้ญาติ โดยเฉพาะวันธรรมสวนะ จึงทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความศรัทธาน้อมนำคำสอนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

งานด้านสังคมและวัฒนธรรม หลวงพ่อเมียนส่งเสริมงานประเพณีที่สำคัญของชุมชน คือ ประเพณีวันสารทหรือประเพณีโดนตา จัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และประเพณีแซนตา หรือการไหว้ผี

ส่วนงานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้พระลูกวัดปฏิบัติตามหน้าที่ของพระสงฆ์ในการพัฒนาวัด บูรณะซ่อมแซมโบสถ์ วิหารพร้อมแล้ว

ด้านเครื่องรางหรือวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเมียน ท่านสร้าง ล้วนแล้วแต่เป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องเป็นอย่างมาก อย่าง อาทิ เหรียญหลวงพ่อเมียน รุ่นมหาลาภ มหาเศรษฐี, หนุมานมหาลาภปราบไพรี,พระกริ่งบรมครู กัลยาโณ และอื่นๆ อีกมากมาย

นำวิชาความรู้ด้านวิทยาคม เป็นกุศโลบายสำคัญในการอบรมสั่งสอนศีลธรรมให้ประชาชนทั่วไป ให้ยึดหลักธรรมคำสอนตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

ปัจจุบันท่านมีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย

บางตำราเขียนประวัติหลวงพ่อเมียนว่า
หลวงพ่อเมียน วัดจะเนียงวนาราม เป็นพระเกจิเขมร สายเขากุเลนผู้เรืองเวทย์ เก่งจริง มีชื่อเสียงในจ.บุรีรัมย์และใกล้เคียงมานาน หนังสือนะโมเคยเอาประวัติของ ท่านมาลงอย่างละเอียดต่อกันถึงสามเล่ม พระอาจารย์ตั้ว วัดซับลำใยลูกศิษย์ของลพ.กวยและลป.หมุนยังไปฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านเก่งเรื่องทำของขลังหลายอย่าง ที่ทำจากว่านยาซึ่งเลี้ยงเองที่วัด

ท่านถือกำเนิดเมือ พ.ศ.๒๔๘๒ ที่บ้านปะนึม ต.บึงขนา จ.โพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ และได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้ศึกษาวิชาอาคมจากพระอาจารย์ฝั่งกัมพูชาถึง ๑๒ ท่าน ท่านที่หลวงปู่ให้ความสำคัญมากคือพระอาจารย์ลุน ส่วนผู้ที่ถ่ายทอดวิชาทำหุ่นพยนต์ให้กับท่านเป็นฆราวาสคือโยมปู่ของท่านเอง ระหว่างที่บวชพระที่ประเทศกัมพูชา ท่านได้ธุดงค์ไปยังเมืองต่างๆโดยตลอด จนกระทั่งถึงพรรษาที่ ๖ ได้เกิดสงครามภายในประเทศกัมพูชา มีการเข่นฆ่าไม่เว้นแม่แต่พระเณร ท่านจึงลาสิกขาบทลี้ภัยสงครามอพยพมาอยู่ที่ อ.ตาพระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ หลังจากนั้นท่านเข้าอุปสมบทอีกครั้ง หลังจากนั้นท่านก็ออกจำพรรษาไปยังวัดต่างๆหลายจังหวัด จนมาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ อีก ๕ พรรษา ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ทรวง (เทวดาเล่นดิน) ศึกษาวิชาอาคมจนแตกฉาน หลวงพ่อเมียน กัลยาโณ ยังเป็นสหธรรมิกที่สนิทเป็นอย่างมากับหลวงปู่เจียม อติสโย ด้วยเป็นคนบ้านเดียวกันและบวชเรียนมาด้วยกัน รวมทั้งเป็นสหธรรมิกรุ่นน้องกับหลวงปู่ธรรมรังษี เกจิอาจารย์ชื่อดัง หลวงปู่ได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านจะเนียง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ หลวงพ่อเมียนท่านเป็นเกจิที่มีเมตตาสูงจึงมีลูกศิษย์แวะเวียนไปขอพรจากท่านเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: