พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี




พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี
 เป็นพระที่สร้างในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีทั้งประเภทเนื้อตะกั่ว เนื้อผงคลุกรักจุ่มรัก และเนื้อผงมาจุ่มรักอีกที ซึ่งหลวงพ่อท่านได้สร้างออกมา มีทั้งหมดหลายพิมพ์ด้วยกัน มีทั้งพิมพ์ปั้นลอยองค์ พิมพ์หลังแบบ พิมพ์หลังเรียบ และยังแยกเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก อาจกล่าวได้ว่า พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ถือเป็นเอกอุในทุกด้าน หรือเป็นจักรพรรดิแห่งพระปิดตา ดังนั้นนอกเหนือจากจุดตำหนิพิมพ์ทรงแล้ว ควรจะพิจารณาถึงธรรมชาติความเก่าของเนื้อพระ รวมทั้งความแห้งตัวของคราบรัก มาประกอบร่วมด้วย ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นรักจีน ที่มีอยู่ในช่วงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์


ในกระบวนพระปิดตาของพระเกจิอาจารย์แต่โบร่ำโบราณที่ขึ้นชื่อลือเลื่องจาก หลายๆ สำนัก พระปิดตาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสุดยอดของพระปิดตาด้วยกันก็คือ "พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์" ซึ่งน่าจะคุ้นหูท่านผู้อ่าน แต่จะคุ้นหน้าคุ้นตาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี
อัตโนประวัติ  โดยย่อของหลวงพ่อแก้ว ท่านถือกำเนิดจากครอบครัวชาวประมงจังหวัดเพชรบุรี ในราวปลายรัชกาลที่ 2 บางตำราก็ระบุว่า ท่านเป็นคนบ้านบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระทรง จ.เพชรบุรี ก่อนที่จะธุดงค์ไปบูรณะวัดเครือวัลย์ แขวงบางปลาสร้อย จ.ชลบุรี ซึ่งที่นั่นเองเป็นจุดกำเนิดของสุดยอดพระปิดตาอันดับหนึ่งของประเทศไทย พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรักหรือจุ่มรัก นับเป็นราชาแห่งพระปิดตาเนื้อผง สูงด้วยความนิยมและมูลค่า โดยเฉพาะคำร่ำลือทางด้านมหาเสน่ห์ และเมตตามหานิยม

 มีเรื่องเล่าขานสืบทอดกันมาว่า ในการจัดสร้างพระปิดตาของหลวงพ่อนั้น มีเศษผงที่เหลือจากการจัดสร้างปลิวไปตกในตุ่มน้ำ สาวแก่แม่ม่ายที่วักน้ำลูบเนื้อตัวเป็นอันต้องมนต์ลุ่มหลงเกิดเสน่หาถ้วน ทั่วทุกตัวตน จนมีผู้พยายามขูดเนื้อขององค์พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เพื่อนำไปใช้ล่อหลอกหญิงสาวจนเกิดเรื่องราวกันมาแล้วมากมาย หลวงพ่อแก้วท่านจึงดำริให้นำพระมาจุ่มรักหรือคลุกรักเสีย เพื่อมิให้ผู้ใดขูดนำไปใช้ในทางมิชอบ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ 1) พิมพ์ใหญ่ ให้สังเกตจะเห็นกำไลข้อพระบาทและส้นพระบาท พระนาภีจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย พิมพ์ด้านหลัง มีทั้งหลังแบบ

คือ ด้านหลังเป็นรูปองค์พระเหมือนด้านหน้ากดเว้าลึกลงไป พระเศียรด้านหลังที่เว้าลึกจะไม่ลึกมาก และจะรีคล้ายไข่เป็ด สำหรับองค์ที่ติดชัดจะเห็นนิ้วขึ้นเป็นไรๆ บริเวณพระหัตถ์ทั้งสองข้าง หลังเรียบ และหลังยันต์ (อุทับถม) ซึ่งพบน้อยมาก 2) พิมพ์กลาง หลังแบบ หลังเรียบ หลังยันต์ และ 3) พิมพ์เล็ก เนื้อของพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว ส่วนมากจะพบเป็นเนื้อละเอียด และมักปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง ซึ่งเกิดจาก "ว่าน" ขึ้นประปราย ถ้าหากลึกเนื้อในจะละเอียดเป็นสีน้ำตาลอมดำ คนโบราณเรียกหลวงพ่อแก้วเนื้อกะลา เพราะจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ คล้ายกะลาเก่าขัดมัน บางองค์มีการปิดทอง ซึ่งต้องพิจารณาทองเก่าให้เป็น เพราะทองเก่าเนื้อจะออกสีแดงอมเหลืองและด้าน ไม่เหมือนกับทองใหม่ซึ่งจะเป็นมันวาว