เหรียญหลวงปู่คำคะนิง รุ่นแรก


ราคา 1,500 บาท พร้อมเช่า
หลวงปู่คำคะนิง เป็นพระเกจิอีกรูปที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานี
ให้ความเคารพศรัทธามากครับ เรื่องวิชาอาคมไม่เป็นสองรองใคร

นามเดิม :- คำคะนิง
เกิด :- ที่บ้านหนองบัว แขวงคำม่วน ประเทศลาว เมื่อวันพุธ เดือน ๔ ปีกุน พ.ศ ๒๔๓๗
โยมบิดา - มารดา :- ชื่อนายดิน ทะโนราช และนางนุ่น
(หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี ก่อนจะบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเคยเป็นฤาษีชีไพรมาก่อน ๑๕ ปี )

บรรพชา :-
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี บวชได้ ๙ วัน เพื่อทดแทนคุณบิดามารดาที่ตายไป หลังจากนั้นพบครบก็ต้องลาสึก แม้ว่าอยากจะบวชต่อเพียงไรแต่เพราะมีหน้าที่ความจำเป็นต้องเลี้ยงดูครอบครัว (ท่านแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘ ปี มีบุตร ๒ คน ) แต่ท่านก็ยังยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมโดยการทำงานหาเงินให้เมียกับลูกตอนกลางวัน พอกลางคืนท่านก็ไปนอนที่วัด ถือศีลปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาไม่กลับไปอยู่ที่บ้าน เพียงดูแลลูกและเมียไม่ให้อดอยาก ทำเช่นนี้จนภรรยาทนไม่ได้ที่เห็นสามีปฏิบัติตัวแบบนี้ จึงอนุญาตให้หลวงปู่บวชได้ตามใจปรารถนา เมื่อเป็นดังนั้นท่านจึงกลับไปวัดที่ตนเคยบวชเณรอีกครั้ง เพื่อพักอาศัยปฏิบัติธรรม อยู่ต่อมาได้ไม่นานท่านก็ได้เพื่อนสหมิกธรรมร่วมอีกสองคน จึงมีความดำริที่คิดจะออกแสวงหาครูบาอาจารย์

ก่อนจะบวชก็เคยออกสืบเสาะหาพระอาจารย์ด้านกรรมฐานเก่งๆ ได้มีสหาย ๒ คนร่วมเดินทางไปหาอาจารย์สีทัตถ์ เมืองท่าอุเทน แต่ก็ผิดหวัง เมื่ออาจารย์สีทัตถ์กล่าวปฏิเสธ แต่ก็แนะนำให้ไปหาอาจารย์เหม่ย ทั้งหมดรีบมุ่งไปหาอาจารย์เหม่ย เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ อาจารย์เหม่ยนิ่งฟังแล้ว กล่าวด้วยเสียงห้วนๆ

“ถ้าจะมาเป็นศิษย์เรา ทั้งสามคนนี้จะมีคนตายหนึ่งคน มีใครกลัวตายบ้าง”
อาจารย์เหม่ยชี้ถามรายตัว เพื่อนอีกสองคน ยอมรับว่ากลัวตาย ครั้นมาถึงนายคำคะนิง เขาได้ตอบอาจารย์ออกไปว่า “ไม่กลัวตาย”
อาจารย์เหม่ยเลยให้เพื่อนอีกสองคนที่กลัวตายกลับไป แล้วหันมาทางนายคำคะนิงแล้วพูดว่า
“การเรียนวิชากับอาจารย์นั้น มีทางตายจริงๆ เพราะมันทุกข์ทรมานอย่างที่สุด”
ให้นำเสื้อผ้าที่มีสีสันทิ้งไป ใส่ชุดขาวแทน เป็น “ปะขาว” ในฐานะศิษย์
ในสำนักมีแต่ข้าวตากแห้งกับน้ำเพียงประทังชีวิตพออยู่รอดไปวันๆ เวลานอนก็เอามะพร้าวต่างหมอนนายคำคะนิงอยู่ได้ไม่นานก็เกิดเรื่องการตายขึ้น ของชายผู้หนึ่งที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ คนผู้นี้นั่งสมาธิจนตาย อาจารย์สั่งนายคำคะนิงให้แบกศพที่ตายเข้าป่า โดยมีอาจารย์เดินนำหน้า ข้ามเขาลูกหนึ่งไปสิบกว่ากิโลเมตรไปถึงต้นไม้ใหญ่สองคนโอบ แล้วสั่งให้เขามัดศพกับต้นไม้นั้น จากนั้นสั่งกำชับว่า
“เจ้าจงเดินเพ่งศพนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งวันทั้งคืน อย่าได้หยุด ให้พิจารณาอสุภกรรมฐานอย่างถ่องแท้ พรุ่งนี้เช้าค่อยเจอกัน”
นายคำคะนิงจึงได้เริ่มพิจารณาศพตามที่อาจารย์เหม่ยสั่งไว้ ถึงรุ่งเช้านายคำคะนิงจึงกลับไปสำนักตามที่อาจารย์กำหนด อาจารย์เหม่ยถามขึ้นเป็นประโยคแรกเมื่อเจอหน้า
“เป็นอย่างไงบ้าง”
“ศพนั้นก็เหมือนตัวศิษย์ครับอาจารย์ ไม่มีอะไรแตกต่างตรงไหนเลย” นายคำคะนิงบอก
“กลัวไหม” อาจารย์ถาม
“ไม่กลัวครับ เพราะเขาก็เหมือนเรา เราก็เหมือนเขา”
อาจารย์ไม่ถามอะไรอีก สั่งให้ไปเอามีดเล่มหนึ่งทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างเดินทางกลับไปหาศพ ณ ที่เดิม
พอไปถึง ก็สั่งให้แก้มัดเอาศพออกมานอนราบกับพื้นดิน แล้วสั่งให้นายคำคะนิงผ่าท้องเอาศพออก จากนั้นอาจารย์ก็กล่าวว่า ให้หยิบอะไรออกมา ต้องอธิบายอวัยวะนั้นได้ และต้องบอกดังๆ เมื่อนายคำคะนิงชำแหละศพ ตัดหัวใจ ตับ ปอด ไต กระเพาะ และสิ่งต่างๆ ก็จะตะโกนบอกอาจารย์ด้วยเสียงอันดัง จนครบหมดถูกต้อง

“เอ๊า... คราวนี้ชำแหละเนื้อลอกออกให้เหลือแต่กระดูก”
อาจารย์เหม่ยสั่งให้เขาทำต่อ และนั่งดูจนเสร็จเรียบร้อย จึงได้สั่งอีกเอากองเนื้อและเครื่องในไปเผาให้หมด เอากระดูกรวมไว้ต่างหาก แล้วเอาไปต้มล้างให้สะอาด เหลือแต่กระดูกล้วนๆ อย่าให้มีอะไรติดอยู่
นายคำคะนิงปฏิบัติตามที่อาจารย์สั่งทุกประการ เนื้อตัวของนายคำคะนิงเต็มไปด้วยรอยเปื้อนเลือด, น้ำเหลือง และมีกลิ่นศพติดตัวเหม็นคละคลุ้ง อาจารย์เหม่ยยังไม่เลิกรา สั่งต่อไปให้เขานับกระดูกและเรียงให้ถูก เขาลงมือปฏิบัติตามทันที
“กระดูกมีสองร้อยแปดสิบท่อนครับ อาจารย์”

อาจารย์เหม่ยอธิบายอีกว่า คนที่จะบรรลุธรรมด้วยความเพียรบำเพ็ญ ต้องมีกระดูกครบสามร้อยท่อนกระดูก คือ พระวินัย เนื้อหนังมังสาเป็นพระวินอก ส่วนระเบียบคือ หู ตา จมูก ปาก มือ เท้า หลังจากได้เรียนรู้วิชาจากอาจารย์เหม่ยหลายสิ่งหลายอย่าง อาจารย์ก็ไล่ให้ไปสืบเสาะหาความรู้เพิ่มเติมเอาเอง นายคำคะนิงจึงยึดเอาโยคีเป็นรูปแบบภายนอก และถือศีลภาวนาอย่างพระภิกษุตั้งแต่บัดนั้นมา
พบหลวงพ่อปาน (พระครูวิหารกิจจานุการ) วัดบางนมโค
ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ในปีหนึ่ง เดินธุดงค์คราวนี้หลวงพ่อปานได้นำศิษย์เอก ๔ รูป ไปด้วยมีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ(พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง) หลวงพ่อฤาษีลิงขาว หลวงพ่อฤาษีลิงเล็ก และพระเขียน หลวงพ่อปานพาลูกศิษย์ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มุ่งหน้าไปทางภาคเหนือ ข้ามเขตชายแดนลึกเข้าไป กระทั่งเข้าเขตเชียงตุง
วันหนึ่ง...คณะของหลวงพ่อปานได้ผ่านไปถึงถ้ำแห่งหนึ่ง และได้พบกับปะขาวคำคะนิง ขณะนั้นท่านปล่อยผมยาวรุงรังมาถึงเอว หนวดเครางอกยาวรุ่ยร่าย นุ่งห่มด้วยผ้าซึ่งดูไม่ออกว่าเป็นผ้าสีอะไร เพราะปุปะและกระดำกระด่าง หลวงพ่อปานจึงเปรยขึ้นว่า
“นี่พระหรือคน ?”
“ไอ้พระมันอยู่ที่ไหน ? เฮ้ย ! พระมันอยู่ที่ไหนวะ ? ” พูดสวนด้วยน้ำเสียงขุ่นเหมือนไม่พอใจ
“อ้าว..ก็เห็นผมยาว ผ้าก็อีหรุปุปะ สีเหลืองก็ไม่มี แล้วใครจะรู้ว่าเป็นคนหรือพระล่ะ ?”
“พระมันอยู่ที่ผมหรือวะ ?”
“ไม่ใช่” หลวงพ่อปานตอบยิ้มๆ
“แล้วพระมันอยู่ที่ไหนเล่า?”
“พระน่ะอยู่ที่ใจใสสะอาด”
“ถ้าอย่างนั้นละก้อ เสือกมาถามทำไมว่าเป็นพระหรือคน”
“เห็นผมเผ้ารุงรังอย่างนั้นนี่ ใครจะไปรู้เล่า?”
“ก็ในเมื่อพระไม่ได้อยู่ที่ผม ไม่ได้อยู่ที่ผ้าแล้วเสือกมาถามทำไม ทำไมไม่ดูที่ใจคน ไอ้พระบ้านพระเมืองกินข้าวชาวบ้านแบบนี้อวดดี มันต้องเห็นดีกันละ”
พูดจบ ปะขาวคำคะนิงก็หยิบเอาหวายยาวประมาณหนึ่งวาโยนผลุงไปตรงหน้า หวายเส้นนั้นกลายสภาพเป็นงูตัวใหญ่ยาวหลายวาน่ากลัว ชูคอร่าก่อนจะเลื้อยปราดๆ เข้ามาหาหลวงพ่อปานพระลูกศิษย์เห็นอย่างนั้น ต่างถอยไปอยู่เบื้องหลังหลวงพ่อปาน
หลวงพ่อปานไม่ได้แสดงอาการแปลกใจหรือตื่นกลัว ท่านก้มลงหยิบใบไม้แห้งขึ้นมาใบหนึ่ง แล้วโยนไปข้างหน้า ใบไม้นั้นก็กลายเป็นนกขนาดใหญ่คล้ายเหยี่ยวหรือนกอินทรี
นกซึ่งเกิดจากอิทธิฤทธิ์ โผเข้าขยุ้มกรงเล็บจับลำตัวงูใหญ่เอาไว้แล้วกระพือปีกลิ่วขึ้นไปเหนือทิวยอดไผ่ ต่อสู้กันเป็นสามารถ งูฉกกัดและพยายามม้วนตัวขนดลำตัวรัด ขณะที่นกใหญ่จิกตีและจิกขยุ้มกรงเล็บไม่ยอมปล่อย แต่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้ชนะ ตราบกระทั่งร่วงหล่นลงมาทั้งคู่ พอกระทบพื้นดิน งูกลายเป็นช้างป่าตัวมหึมา งายาวงอน ส่วนใบไม้แห้งแปรรูปเปลี่ยนเป็นเสือลายพาดกลอน แล้วสองสัตว์ร้ายก็โผนเข้าสู้กันใหม่ เสียงขู่คำรามของเสือ เสียงโกญจนาทของพญาคชสาร แผดผสานกึกก้องสะท้านป่า
นี่ไม่ใช่ภาพมายา แต่เกิดจากฤทธิ์อภิญญา! ครั้นสองตัวประจัญบานไม่รู้แพ้ชนะได้ครู่หนึ่งก็หายไป ปะขาวยาวหนวดยาวเครารุงรังได้บันดาลให้เกิดไฟลุกโชติช่วง ประหนึ่งจะมีเจตนาจะให้ลามมาเผา แต่หลวงพ่อปานก็บันดาลพายุฝนสาดซัดลงมาดับไป เกิดฝุ่นตลบคลุ้งไปทั้งป่า
ลองฤทธิ์กันหลายครั้งหลายครา ปรากฏว่าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แทนที่ทั้งสองฝ่ายจะโกรธเกรี้ยว กลับทรุดลงนั่งหัวเราะด้วยความขบขัน
คณะศิษย์ของหลวงพ่อปานพากันประหลาดใจ หลวงพ่อปานจึงอธิบายว่า “เขากับฉันเป็นเพื่อนกัน” พร้อมกันนั้นก็หันไปพูดกับปะขาวผมยาวหนวดเครารุงรังว่า ลูกศิษย์ของท่านนั้น “เอาจริง”
หมายถึงปรารถนาบรรลุสู่พระนิพพานกันจริงๆ ทุกรูป การที่ท่านและปะขาวผมยาวเล่นฤทธิ์ประลองกัน ก็เพื่อให้ศิษย์ทุกคนได้เห็น “ของจริง”
แล้วหลวงพ่อปานก็ให้คณะศิษย์ของท่านเข้าไปทำความเคารพ ซึ่งปะขาวผมยาวก็ได้นอบน้อมถ่อมตนว่า ท่านไม่ได้เก่งกาจเกินว่าหลวงพ่อปานเลยแม้แต่น้อย
หลวงพ่อปานและศิษย์ของท่านพักอยู่กับปะขาวผมยาวนานนับครึ่งเดือน เพื่อให้ทุกรูปได้รับคำแนะนำสั่งสอนด้านอภิญญาเพิ่มเติม เมื่อพักอยู่ที่คูหาถ้ำพอสมควรแกเวลาแล้ว หลวงพ่อปานและคณะศิษย์ก็ออกธุดงค์ต่อไป ปะขาวผมยาวคนนั้นก็คือปะขาวคำคะนิง หรือหลวงปู่คำคะนิงนั้นเอง
หลังจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคและคณะศิษย์ของท่านจากไปแล้ว ปะขาวคำคะนิงก็ออกเดินทางต่อไป
โยคีคำคะนิง ดั้นด้นไปยังภูอีด่าง ซึ่งสมเด็จลุนพระอริยเจ้าแห่งราชอาณาจักรลาวจำพรรษาอยู่ พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ของตนให้ท่านทราบ สมเด็จให้ความปราณีมอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้โยคีคำคะนิงไปค้นคว้า ศึกษา ครั้นท่านโยคีคำคะนิงศึกษาธรรมจากพระคัมภีร์เรียบร้อยก็เอาเก็บไว้ที่เดิม มิได้นำมาเป็นสมบัติส่วนตัว โยคีคำคะนิงลงจากภูเขาได้พบชาวบ้าน และได้ทำการรักษาคนป่วยจนหายทุเลา ท่านเดินทางไปเรื่อย เจอใครก็รักษาโรคภัยให้หมด

อุปสมบท :-
เรื่องของโยคีตนนี้ ทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเจ้ามหาชีวิตของประเทศลาวถึงกับสนพระทัย จึงได้โปรดให้โยคีคำคะนิงเข้าเฝ้าท่ามกลางพระญาติและเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงตรัสถาม “ท่านเก่งมีอิทธิฤทธิ์มากหรือไม่”
“ไม่” โยคีคำคะนิงตอบสั้นๆ
“ถ้าไม่เก่งแล้วทำไมคนจึงลือไปทั่วประเทศ” ตรัสถามอีก
“ใครเป็นคนพูด” โยคีคำคะนิงไม่ตอบแต่ถามกลับ
“ประชาชนทั้งประเทศ” พระองค์บอก
“นั่นคนอื่นพูด อาตมาไม่เคยพูด” โยคีคำคะนิงตอบออกไป
พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาทรงแย้มพระสรวล ในการตอบตรงๆ ของโยคีคำคะนิง จึงตรัสถามว่า
“ขอปลงผมท่านที่ยาวถึงเอวออกได้ไหม”
คำคะนิงถึงกับอึ้งชั่วครู่ จึงได้กราบทูลไปว่า “ถ้าปลงผม หนวดเคราก็ต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ”
“ยินดีจะจัดอุปสมบทให้ท่านเป็นพระราชพิธี” เจ้ามหาชีวิตยื่นข้อเสนอให้ โยคีคำคะนิงจึงได้กล่าวตกลง และได้บวชตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ณ วัดหอเก่าแขวงนครจำปาศักดิ์ คือศาสนสถาานที่กำหนดให้เป็นวัดอุปสมบทของปะขาวคำคะนิง มีประกาศป่าวร้องให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงวันอุปสมบทปะขาวคำคะนิง โดยพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์ให้จัดขึ้น
พอถึงวันอุปสมบท ประชาชนทุกชนชั้นทุกอาชีพ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่าต่างมาร่วมในงานพระราชพิธีแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์ แต่ละคนเตรียมผ้าไหมแพรทองมาด้วยเพื่อจะมาปูรองรับเส้นเกศาของปะขาวคำคะนิง ตอนแรกจะมีการแจกเส้นเกศาให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันหม ครั้นถึงเวลปลงผมจริงๆ ประชาชนกลัวจะไม่ได้เส้นเกศาจึงแออัดยัดเยียดเข้ายื้อแย่งกันอลหม่าน เกินกำลังเจ้าหน้าที่รักษาการจะห้ามปรามสกัดกั้นได้ ในที่สุดเหตุการณ์ก็สงบลงเมื่อเส้นเกศาถูกแย่งเอาไปจนหมด
จากนั้นพระราชพิธีอุปสมบทก็ดำเนินต่อไปโดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้ามหาชีวิตพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาส มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมพิธี ๒๘ รูป เมื่อพิธีการอปุสมบทเสร็จสิ้นปะขาคำคะนิงซึ่งครองเพศพรหมจรรย์ เป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับฉายาว่า “สนฺจิตฺโตภิกขุ” หรือ “พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต”
หลังจากเป็นพระภิกษุ พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็กลับขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำบนภูอีด่างเช่นเดิม ดำรงวัตรปฏิบัติตามแนวทางของพระป่าอย่างเคร่งครัด และนับตั้งแต่เป็นพระภิกษุคำคะนิง สนฺจิตฺโต ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลไต่ภูเขาขึ้นไปกราบนมัสการ และขอความช่วยเหลือจากท่านจนไม่มีเวลาปฏิบัติภาวนาบำเพ็ญธรรม

วันหนึ่ง..พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็หายไปจากภูอีด่าง และไม่กลับมาอีกเลย ประชาชนลาวรู้แต่ว่าท่านออกธุดงค์สาบสูญไปแล้ว ต่างพากันร่ำไห้โศกเศร้าอย่างน่าสงสาร
หลวงปู่ชอบจารึกธุดงค์ฝั่งลาวเพราะหมู่บ้านยังไม่เยอะเท่าฝั่งไทย ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ และในช่วงปลายชีวิตท่านก็ตัดสินใจจำพรรษา วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เป็นที่สุดท้ายของท่าน

มรณภาพ :-
หลวงปู่ป่วยเป็นโรคปอดบวม และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๑.๑๓ น. ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ ท่านได้อยู่ในเพศฤาษีได้ ๑๕ ปี และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ๓๒ พรรษา
ธรรมเทศนา :-
อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรม
“อด” คือความอดทนวิริยะในธรรมอันบริสุทธิ์ เช่นหนาวก็ไม่ให้พูดว่าหนาว ร้อนก็ไม่ให้พูดว่าร้อน เจ็บก็ไม่ให้พูดว่าเจ็บ เพราะมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาได้ทุกรูปทุกนาม ครบอาการ ๓๒ อย่างบริบูรณ์นั้นก็ด้วยธรรม ได้แต่งให้เกิด อันมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมจะรู้และเห็นอยู่ทุกวันว่า มีคนเกิดแก่ เจ็บ ตาย เพราะเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ว่ามนุษย์และสัตว์ เมื่อเกิดมีขันธ์ ๕ ย่อมมีดับ
ทุกสิ่งในโลกมักจะมีคู่ เช่น หญิงกับชาย ดีกับชั่ว ในทำนองนี้ พระพุทธเจ้าเอง ปรารถนาอย่างยิ่งคือคำว่าหนึ่งไม่มีสอง ก็หมายความว่า เมื่อมีเกิดย่อมมีตาย เมื่อไม่มีตาย ย่อมไม่มีเกิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถึงการหลุดพ้นจากกิเลสหมดสิ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ให้รู้จักตัวเจ้าของเองให้มากที่สุด อย่าไปสนใจในสิ่งที่ห่างจากตัว ให้อ่านตัวเองให้ออก เพราะธรรมที่ทุกคนอยากได้ อยากเห็นนั้นมันอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล แต่ที่เรามองไม่เห็น อ่านมันไม่ออกก็เพราะกิเลสมันบังอยู่ อุปมาดังตัวเรานี้เหมือนแก้วน้ำที่ใสสะอาดบรรจุไปด้วยน้ำสกปรกอันมีกิเลสตัณหาความอยากโลภโมโทสัน ความอยากร่ำอยากรวย ความไม่รู้จักพอนี้ สะสมอยู่ในจิตก็ย่อมจะมีแต่ความมืดมน ถ้าทุกคนพยายามหยิบและตักตวงเอาสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาออกจากจิตออกจากใจ ในไม่ช้าก็จะพบแต่ความสว่างไสวแห่งธรรมที่ปรารถนา เหมือนดังแก้วน้ำที่ล้างจากใจ ในไม่ช้าก็จะพบแต่ความสว่างไสว แห่งธรรมที่ปรารถนา เหมือนดังแก้วน้ำที่ล้างสะอาดไม่มีสิ่งใดบรรจุ นั่นคือ ตัวธรรมที่แท้จริง
ส่วน “อัด” คืออะไร ทุกคนที่เกิดมาในโลกย่อมจะรู้จะเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องของทางโลก เช่น คนพูดกันหรือทะเลาะกัน คนฆ่ากัน รถชนกัน สิ่งเหล่านี้ เราไม่ต้องไปสนใจ ปิดหู ปิดปาก ปิดตา ไม่ให้ได้ยิน ไม่ให้เห็น ไม่ให้พูด ไม่ต้องรับรู้จากสิ่งที่จะทำให้เป็นตัวกั้นความดี ให้วางให้หมด ดูแต่ใจเจ้าของแต่ผู้เดียว รู้แต่ลมเข้าออกเท่านั้น จะทำอะไรก็ให้อยู่ในศีลธรรมให้ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา เราต้องอัดไม่ให้เสียงเข้ามาในหู ไม่ให้รูปเข้ามาทางตา ไม่พูดสิ่งที่ต่ำไป สูงไป ให้พูดแต่สิ่งที่พอดี นี่คือธรรมตัวจริง
“อุด” คืออะไร หมายถึงเมื่อเราอด เราอัด ปิดกั้นความเลวร้าย ความชั่ว ความวุ่นวายทั้งหลายไม่ให้เข้ามาทางตา หู ปาก ของเราแล้วก็อุดความดีเอาไว้ในตัวของเราไม่ให้มันไหลออกไป กาย วาจา ใจของเราก็จะบริสุทธิ์ในธรรม ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ปฏิบัติชอบ ตาอย่าได้ดูในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม หูอย่าได้ฟังในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ปากอย่าได้พูดในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อุดความดีทั้งหลายเอาไว้ ให้เกิดความบริสุทธิ์ในธรรม ถ้าทุกคนพยายามตั้งอกตั้งใจปฏิบัติก็จะพบแต่ความสำเร็จปรารถนาไว้ทุกประการ
อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรม คือการปฏิบัติส่งเสริมคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้ซึ้งถึงธรรมของพระพุทธองค์ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นตัวธรรมะที่พาให้เห็นธรรมอันแม้จริง อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรมคือการปฏิบัติที่ทำให้เราระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ปฏิบัติชอบ อยู่ชอบ กินชอบ นั่งชอบ นอนชอบ ไปชอบ มาชอบ วาจาชอบ อด อัด อุด เป็นขันติบารมีธรรม คือความอดทนให้เกิดปัญญามีที่เป็นปรมัตถ์ มัดหูมัดตา มัดจิต มัดใจ มัดมือ มัดตีนให้เป็นธรรม อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรมนี้ดีเลิศทำให้หน่ายในโลกจักรวาล มีจิตเบิกบาน ถ้าเข้าใจดีปฏิบัติด้วยจิตที่ตั้งมั่น จะหันหน้าเข้าสู่สวรรค์นิพพาน ไม่หนึ่งเกิด สองตาย อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรมไม่มีตาย ไม่มีเฒ่า ไม่มีเข้าพยาธิ