ตำหนิหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลานพิมพ์ขี้ตา นักนิยมพระเรียกขานตามรายละเอียดที่ติดมากับองค์พระ กล่าวคือ บริเวณใต้นัยน์ตาขวาของรูปหล่อช่วงติดกับดั้งจมูก
จะมีเม็ดเนื้อเกินคล้ายขี้ตา จึงเป็นที่มาของนามว่าพิมพ์ขี้ตา
            รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตานี้ ตามความเข้าใจน่าจะเป็นงานเทหล่อฝีมือช่างชาวบ้าน
ฉะนั้นความประณีตสวยงามไม่อาจเทียบกับพิมพ์นิยมซึ่งเทหล่อโดยนายช่างจากบ้านช่างหล่อ
แต่ก็ทำให้เกิดเสน่ห์ของงานศิลป์อีกรูปแบบ รูปหล่อพิมพ์ขี้ตานี้ขบวนการผลิตเทหล่อเริ่มจาก
การทำแม่พิมพ์(บล็อก)ด้านหน้าและหลัง หลังจากนั้นจะเข้าขบวนการทำหุ่นเทียนคือการนำขี้ผึ้ง
(สำหรับการทำพระ)การตีพิมพ์ในแม่พิมพ์(บล็อก) และนำหุ่นเทียน(แบบที่ได้จากการตีพิมพ์ขี้ผึ้งนี้จะเรียกว่าหุ่นเทียน) มาทาน้ำขี้วัวหลายเที่ยวหลังจากนั้นจึงเข้าดิน-ผูกลวด(กันเบ้าแตก) –
จากนั้นเมื่อได้ฤกษ์เททองหล่อจะนำเบ้าพระนั้นสุมสำรอกหุ่นเทียนและเทหล่อ ความแตกต่างของขบวนการผลิตระหว่างพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตาอยู่ที่พระพิมพ์นิยมจะต้องทำการเข้าช่อชนวนในขณะที่เป็นหุ่นเทียน(พิมพ์นิยมเทหล่อเป็นช่อ-ช่อละหลายองค์)ส่วนพิมพ์ขี้ตาเทหล่อที่ละองค์ ความแตกต่างอยู่ที่ใต้ฐานพระพิมพ์นิยมจะสังเกตเห็นรอยช่อชนวนประมาณแท่งดินสอ แต่พิมพ์ขี้ตาจะไม่ปรากฏรอยช่อชนวนแต่จะเป็นรอยขรุขระ-หรือรอยยุบตัวของโลหะ และปรากฏรอยตะเข็บพิมพ์ด้านข้าง ซึ่งในพิมพ์นิยมจะไม่เห็นรอยตะเข็บนี้เนื่องจากช่างจะทำการแต่งลบรอยตะเข็บในขณะที่เป็นหุ่นเทียน และนี่คือจุดพิจารณาในการแยกแยะพระรูปหล่อพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตานอกเหนือจากการสังเกตุพิมพ์ซึ่งมีความแตกต่างกันในตัว
                รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพขี้ตายังจำแนกเป็นอีก ๔ พิมพ์ด้วยกันคือ
๑.     พิมพ์ขี้ตา ๓ ชาย รูปหล่อพิมพ์นี้ขนาดจะเล็กกว่าพระพิมพ์ขี้ตาทุกพิมพ์การสังเกตุพิมพ์ให้สังเกตุริ้วจีวรด้านขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๓ เส้นพาดจากขอบสังฆาฎิเฉียงลงมาชนท้องแขนขวา เส้นริ้วจีวรด้านซ้ายมือเส้นแรกจากสังฆาฏิจะโค้งขึ้นแล้วลาดลงมาขอบแขนซ้าย
๒.    พิมพ์ขี้ตา ๔ ชายเล็ก ให้สังเกตริ้วจีวรด้านขวาองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๔ เส้นลาดโค้งมาจากขอบสังฆาฏิขวาลงมาชนท้องแขนขวาและบริเวณแขนขวาองค์พระเหนือข้อศอกเล็กน้อยมักจะเป็นหลุมเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์
๓.     พิมพ์ขี้ตา ๔ ชายใหญ่พิมพ์นี้ใกล้เคียงกับพิมพ์ ๔ ชายเล็กมากผู้เขียนยังเคยเห็นนักนิยมพระหลายท่านเรียกสับสน ให้สังเกตริ้วจีวรด้านขวาองค์พระริ้วจีวร ๔ เส้นจะลาดโค้งกว่าพิมพ์ ๔ ชายเล็กโดยริ้วจีวรเส้นบนสุดจะลาดโค้งไปจรดเกือบซอกแขนขวาด้านบน
และเส้นริ้วจีวรเส้นที่ ๓ จากด้านบนในซอกจะเห็นเนื้อเกินคล้ายสามเหลี่ยมชนไปเส้นจีวรเส้นที่ ๒ แก้มขวาองค์พระมีปลื้นเนื้อเกินซึ่งเป็นมาแต่ในแม่พิมพ์ปรากฏ
๔.    พิมพ์ขี้ตา ๕ ชาย ให้สังเกตเส้นริ้วจีวรขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๕ เส้นโค้งซ้อนลงมาท้องแขนขวาส่วนด้านซ้ายมือริ้วจีวรจะปรากฏเป็น ๓ เส้นใหญ่พาดเฉียงจากขอบสังฆาฏิซ้ายลงมาขอบแขนซ้าย มุมปากซ้ายองค์พระจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย
พระทั้ง ๔ แบบพิมพ์ขนาด ๓ ชายจะเล็กที่สุดและจะไล่ขนาดถึงพิมพ์ ๕ ชายจะมีขนาด –
เขื่องที่สุดและที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งคือบริเวณหัวตาขวาองค์พระจะเป็นเป็นรอยเส้นเฉียงขึ้นเล็กน้อย(เส้นนี้เล็กและตื้นมาก)ปรากฏทุกพิมพ์ และนอกเหนือจากนี้ยังมีจุดพิจารณาอีกหลายแห่ง พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตานี้เป็นเนื้อโลหะผสม(ทองเหลืองแก่เงิน)ต้องมีคราบดินเบ้าปรากฏ ดินนี้ฝังอยู่ตามเนื้อพระหลายท่านเรียกดินนี้ว่า”แร่น้ำพี้” ดินนี้มีสีดำบางครั้งเห็นเป็นเม็ดทรายฝังอยู่ก็มี พระปลอมไม่ปรากฏว่ามีสิ่งเหล่านี้ และประการสำคัญที่สุดคือการจำแบบพิมพ์ให้ได้(แม่นพิมพ์) จำเนื้อ(พระเทหล่อดินไทย เนื้อทองผสม)ให้ได้ศึกษาจากผู้รู้ตำราที่เชื่อถือได้ และประการสุดท้ายห้ามเชื่อที่มาและห้ามฟังนิยายให้ยึดถือมาตรฐานของการสะสมพระที่ถูกวิธี รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติทั้งพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตานี้สันนิษฐานว่าสร้างรวมกันอยู่ที่หลักพันองค์หรือกว่านี้ไม่มาก

1. จีวรด้านขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๓ เส้นพาดจากขอบสังฆาฎิเฉียงลงมาชนท้องแขนขวา
2. เส้นริ้วจีวรด้านซ้ายมือเส้นแรกจากสังฆาฏิจะโค้งขึ้นแล้วลาดลงมาขอบแขนซ้าย
1. ริ้วจีวรด้านขวาองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๔ เส้นลาดโค้งมาจากขอบสังฆาฏิขวาลงมาชนท้องแขนขวา
2. บริเวณแขนขวาองค์พระเหนือข้อศอกเล็กน้อยมักจะเป็นหลุมเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์
1.ริ้วจีวรด้านขวาองค์พระริ้วจีวร ๔ เส้นจะลาดโค้งกว่าพิมพ์ ๔ ชายเล็กโดยริ้วจีวรเส้นบนสุดจะลาดโค้งไปจรดเกือบซอกแขนขวาด้านบน
2.เส้นริ้วจีวรเส้นที่ ๓ จากด้านบนในซอกจะเห็นเนื้อเกินคล้ายสามเหลี่ยมชนไปเส้นจีวรเส้นที่ ๒
3.แก้มขวาองค์พระมีปลื้นเนื้อเกินซึ่งเป็นมาแต่ในแม่พิมพ์ปรากฏ
1. เส้นริ้วจีวรขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร ๕ เส้นโค้งซ้อนลงมาท้องแขนขวา
2. ด้านซ้ายมือริ้วจีวรจะปรากฏเป็น ๓ เส้นใหญ่พาดเฉียงจากขอบสังฆาฏิซ้ายลงมาขอบแขนซ้าย
3. มุมปากซ้ายองค์พระจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย