ราคา 15,000 บาท พร้อมเช่า
ประวัติ หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล (พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ) ชาติภูมิ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ หรือหลวงพ่อพูน ฐิตสีโล มีนามเดิมว่า ทองพูน นามสกุล สัญญะโสภี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก) โยมบิดาชื่อแบน โยมมารดาชื่อสมบุญ สัญญะโสภี ณ บ้านสามกอ หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อพูนหรือเด็กชายทองพูนในขณะนั้นได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนศรีรัตนานุกูล หรือปัจจุบันนี้คือโรงเรียนวัดบ้านแพน “ศรีรัตนานุกูล” จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งอายุได้ ๑๔ ปี จึงได้ติดตามหลวงปู่คำปัน พระธุดงค์มาจากจังหวัดลำพูน ขึ้นไปเมืองเหนือเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้กลับมายังบ้านเกิดโดยสำเร็จวิชาด้านโหราศาสตร์กลับมา เมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นายทองพูนจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านแพน จากคำชวนของหลวงพ่อวาสน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพนในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๒ โดยมี พระปลัดแจ่ม วัดโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในปีนั้นเองสามเณรทองพูนก็สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี และหลังจากบรรพชาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยได้ ๓ ปี สามเณรทองพูนจึงได้อุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ปีมะโรง โดยมีพระครูปริยัติคุณูปการณ์ (วาสน์) วัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเกษมคณาภิบาล (หลวงพ่อมี) วัดมารวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิบูลย์ธรรมศาสน์ (หลวงพ่อสังวาลย์)วัดกระโดงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์เวลา ๐๘.๐๐ น. ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตสีโล” จากนั้นจึงได้ตั้งใจสอบนักธรรมชั้นโทและ ชั้นเอกได้สำเร็จภายใน ๒ ปีการศึกษา
การศึกษาพุทธาคม
ในด้านพระเวทย์วิทยาคมหลวงพ่อพูนท่านได้สนใจและได้ศึกษาในเรื่องพุทธเวทย์มหามนต์ซึ่งเป็นศาสตร์แห่ง
“พุทธ” มาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี โดยในเวลานั้นได้ติดตามหลวงปู่คำปัน
พระธุดงค์ที่มาจากภาคเหนือขึ้นไปอาศัยอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑ ปี
จึงได้กลับมาบ้านเกิดพร้อมทั้งตำราการดูดวงที่ถือได้ว่าแม่นยำอย่างหาใครเปรียบได้ยาก
ไม่เพียงแค่นั้นหลวงพ่อพูนท่านยังได้ฝึกเรียนกรรมฐานกับอาจารย์พริ้งฆราวาสจอมขมังเวทย์ในย่านบ้านแพน
และได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำน้ำมนต์มาจากอาจารย์พริ้งจนจบหลักสูตรวิชา
จึงเป็นเหตุให้น้ำพระพุทธมนต์ที่หลวงพ่อพูนทำขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
สามารถใช้ขับไล่ภูตผี ปีศาจ เสนียดจัญไรได้อย่างชะงัดนอกจากอาจารย์พริ้งแล้วหลวงพ่อพูนยังได้ร่ำเรียนวิชามาจากอาจารย์ลพ เกตุบุตร ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน และเป็นศิษย์เอกของอาจารย์จาบแห่งตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยหลวงพ่อพูนได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อมักใช้จารลงในแผ่นยันต์หรือแหวนอยู่เสมอ ๆ สำหรับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์นั้น หลวงพ่อพูนได้ศึกษาวิชามาจากหลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จนมีความเชี่ยวชาญด้านพระเวทย์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาพระคาถาชินบัญชรอันลือลั่นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่แม้ว่าหลวงพ่อมีจะมีความเชี่ยวชาญในพระคาถานี้อย่างหาผู้ใดเทียบได้ยาก เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังชมหลวงพ่อพูนว่า “มีความเชี่ยวชาญพระคาถาชินบัญชรมากกว่าท่าน” มูลเหตุของการเรียนตะกรุดดอก(ไม้)ทอง มูลเหตุในการเรียนวิชาการทำตะกรุดของหลวงพ่อพูนนั้น คงสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงพ่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์ คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน ในวันหนึ่งมีพระในวัดที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ซึ่งกำลังจะลาสิกขาได้มากราบลาหลวงพ่อพร้อมกับเอ่ยปากขอของดีจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านจึงดุไปว่าตัวท่านเองนั้นไม่มีวิชาอะไรและจะเอาของดีที่ไหนมาให้ ต่อมาหลวงพ่อท่านทราบว่าที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีพระอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางด้านการทำตะกรุดดอกทอง นั่นก็คือหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเขียว ว่ากันว่าฉี่ของหลวงพ่อเขียวใครดื่มกินเข้าไปจะอยู่ยงคงกระพัน และเคยมีการทดลองนำปืนมายิงใส่ฉี่ของท่านปรากฏว่ายิงไม่ออกจริง ๆ วันหนึ่งหลวงพ่อสนั่นท่านได้รับกิจนิมนต์ให้มาเทศน์ที่วัดบ้านแพน หลวงพ่อพูนก็เข้าไปกราบนมัสการท่านและก็เลยถือโอกาสขอเรียนวิชาการทำตะกรุด จากหลวงพ่อสนั่น ตอนแรกที่ขอเรียนวิชานั้นหลวงพ่อสนั่นท่านไม่ให้ แต่พอสนทนากับท่านนานเข้า หลวงพ่อสนั่นจึงหลุดปากบอกกับหลวงพ่อพูนว่าถ้าอยากได้ให้ไปหาท่านที่วัดเสา ธงทอง อยู่ต่อมาจนวันหนึ่งหลวงพ่อพูนท่านมีธุระต้องไปที่วัดเสาธงทอง ท่านจึงนึกได้ว่าเคยขอวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่นไว้ท่านจึงได้ไปร่ำ เรียนวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทองจากหลวงพ่อสนั่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สร้างพระครั้งแรก
หลวงพ่อพูนเริ่มต้นสร้างพระเป็นครั้งแรกเมื่อบวชได้ประมาณพรรษา ๑๐
เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรนอกจากสวดมนต์และทำงานวัด
แต่เดิมหลวงพ่อท่านตั้งใจจะไปเรียนบาลีที่กรุงเทพ ฯ
แต่หลวงพ่อวาสน์ท่านไม่อนุญาตให้ไปหลวงพ่อพูนจึงต้องล้มเลิกความตั้งใจนั้น
หลวงพ่อเริ่มสร้างพระครั้งแรก โดยนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระสังกัจจายน์แล้วนำไปเผาไฟ
ครั้งแรกที่เผานั้นปรากฏว่าแตกละเอียดไม่มีชิ้นดี เพราะไม่มีประสบการณ์
จึงทดลองทำไปเรื่อย ๆ
ปรากฏว่าได้เคล็ดวิชาว่าถ้าอยากให้พระดีและสวยต้องสวดมนต์กำกับด้วย แน่นอนได้ผล
พระสังกัจจายน์รุ่นต่อมาเนื้อคมสวยต่อมาพระที่อยู่ในวัดเดียวกัน ชวนสร้างพระเพื่อหารายได้ไปซ่อมแซมกำแพงโบสถ์ที่ผุพัง เนื่องจากสมัยก่อนการก่อสร้างกำแพงเพียงแค่นำดินเหนียวมาผสมกับหนังวัวหนังควายแล้วกระดาษฟางกวนให้เหนียว ไม่ได้ใช้ปูนเหมือนในปัจจุบันนี้ ก็เลยไปขออนุญาตจากหลวงพ่อวาสน์ ท่านอนุญาต ก็เลยนำพระที่ปั้นได้ประมาณ ๑ พันองค์ไปเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดโคกเสือ และได้นำมาให้เช่าบูชา ปิดทององค์ละ ๒๒ บาท ธรรมดา ๑๐ บาทได้เงินมาก็นำไปซ่อมกำแพงและถมดินข้างวัดตามวัตถุประสงค์
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน
ปี พ.ศ. ๒๕๒๗
หลังจากที่หลวงพ่อพระครูปริยัติคุณูปการ(วาสน์)ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน
เพราะในขณะนั้นท่านชราภาพมาก ท่านมีอายุถึง ๘๕ ปี
ท่านจึงมอบตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนให้กับหลวงพ่อพูน
งานแรกที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์ภายหลังจากที่รับเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนแล้วคือ
การสร้างกุฏิพระจำนวน ๘ ห้อง
“จำได้ว่าหลวงพ่อวาสน์เรียกให้ไปหาบนหอปริยัติคุณูปการณ์แล้วหยิบเงินให้มา ๓ แสนบาท
บอกให้ไปสร้างกุฏิให้สำเร็จเพราะจะได้มีผลงาน
เราก็มานั่งนึกว่าจะทำได้หรือรับเงินมาแล้วก็มานั่งกอดเข่าเป็นทุกข์อยู่นาน
เวลาผ่านไปหลายวันสติเริ่มมีจึงได้เรียกเพื่อนที่เป็นช่างก่อสร้างมาตกลงเรื่องราคาการสร้างกุฏิ
ทำกันต่อหน้าหลวงพ่อวาสน์นั่นแหละ
กันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าแรงบ้างค่าวัสดุอุปกรณ์บ้าง
แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่จะบูรณะวัดบ้านแพน
หลวงพ่อจึงได้นำวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทอง
ที่ได้ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อสนั่นนั่นแหละมาช่วย เพราะลำพังเพียงเงิน ๓
แสนบาทคงทำกุฏิได้ไม่สำเร็จ ตั้งแต่นั่นเป็นต้นมาตะกรุดดอก(ไม้)ทอง
ก็เป็นที่สนใจของประชาชนมาเช่าบูชากันเป็นจำนวนมาก
ทำให้ได้เงินมาสร้างกุฏิจนแล้วเสร็จพร้อมกับสร้างเพิ่มอีก ๘ ห้อง
และได้นำเงินมาสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดบ้านแพน
ดังที่เห็นความเจริญรุ่งเรืองของวัดบ้านแพนในปัจจุบันนี้
งานการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อพูนบวชได้เพียง ๔ พรรษา คือ ในพ.ศ. ๒๔๙๙
ก็ได้รับการมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน
และเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนในขณะนั้น ให้หลวงพ่อเป็นพระกรรมวาจาจารย์
คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญ ๆ
ที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน คือ พ.ศ. ๒๔๙๙
ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน พ.ศ. ๒๕๑๓
ได้รับการมอบหมายให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
เนื่องจากหลวงพ่อพระครูปริยัติคุณูปการณ์ (วาสน์) ท่านชราภาพมาก ท่านมีอายุถึง ๘๕
ปี ท่านจึงได้รับการยกฐานะเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์
หลวงพ่อพูนท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนต่อจากหลวงพ่อวาสน์มาจนถึงปัจจุบันนี้ภายหลังจากที่หลวงพ่อพูนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ท่านได้ปกครองดูแลวัดและทำการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดบ้านแพนให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด จนในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ หลวงพ่อจึงได้รับพระมหากรุณาฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท (จร.ชท.) ในราชทินนามที่ “พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ” วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท และมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน พระอุปัชฌาย์
สำหรับงานและภาระหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเสนานั้น ท่านได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ดังนี้ คือ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุวรรณาราม เจ้าคณะภาค ๒ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเสนา พ.ศ. ๒๕๔๓ ในปีนี้หลวงพ่อพระครูเสนาคณานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเสนาในขณะนั้นท่านได้ลาออกจากตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงมอบหมายให้หลวงพ่อเป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเสนา และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเสนา ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลวงพ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก (จอ.ชอ.)
สำหรับงานในหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเสนาในปัจจุบันนี้ หลวงพ่อต้องรับภาระหน้าที่ดูแลวัดจำนวน ๓๓ วัด โดยแบ่งการปกครองเป็น ๖ ตำบล มีพระภิกษุในพรรษา ๔๑๑ รูป นอกพรรษา ๓๓๗ รูป มีพระครูสัญญาบัตร ๑๘ รูป พระอุปัชฌาย์ ๑๐ รูป พระทรงปาฏิโมกข์ ๓๘ รูป พระมหาเปรียญธรรม ๗ รูป มีการประชุมคณะสงฆ์ ทุก ๆ ๒ เดือน คือ ประชุมในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน คี่