ราคา 15,500 บาท พร้อมเช่า
เหรียญรุ่นแรก พร้อมจารมือ ด้านหน้า หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน สร้างปี2530 มีสามเนื้อ เนื้อเงินสร้าง56เหรียญ เนื้อนวะกะไหล่ทองสร้าง300เหรียญ ทองแดงสร้าง2174เหรียญ
ประวัติบ้านแพน
ทิศเหนือ ติดต่อกับทางสาธารณะ
ทิศใต้ ติดต่อกับคลองสามกอ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำแควน้อย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำปลายนาเก่า
มูลเหตุของการตั้งชื่อวัดนั้น ตำนานของท้องถิ่นบอกไว้ว่า แต่เดิมมีสำเภาใหญ่ล่องมาทางคลองรางจระเข้ โยหารู้ไม่ว่า บริเวณปากคลองนี้มีกระแสน้ำวนเชี่ยวกราก สำเภาจึงเสียการทรงตัว กระแทกเข้าริมตลิ่ง แล้วบ่ายหัวไปอีกทาง สำเภากระทบกระทั่งทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างไร้ทิศทาง จนเรือล่วงเข้าสู่ท้ายคลองจึงจมลงอย่างสงบนิ่ง มีเพียงเสากระโดงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ส่วนข้าวของและสัมภาระที่ติดมากับเรือต่างลอยกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ต่างเข้าช่วยตามกำลัง ส่วนหนึ่งลากเอาเสื่อลำแพนที่ลอยไปติดเนินดินขึ้นตากแดดจนแห้ง ภายหลังจึงเรียกชื่อแห่งนั้นว่า “บ้านแพน”ส่วนกกที่ลอยไปติดใกล้โคกใหญ่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำตากบนโคก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเสื่อ” ส่วนพ่อค้าสำเภา หลังจากเรืออับปาง ก็ตัดสินใจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเตือนใจในสัจธรรมของชีวิต และนำเสากระโดงเรือตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วขนานนามวัดว่า “วัดเสากระโดงทอง” บริเวณที่นำเสื่อลำแพนไปตากนั้น เป็นพื้นที่ในการครอบครองของวัดจันทรคูหาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบ้านแพน” ส่วนเนินดินนั้นเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทางผ่านมายังจุดนั้น จึงกลายเป็นชุมทางเรือและการค้าขาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเสนา
ประวัติ หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล (พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ) ชาติภูมิ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ หรือหลวงพ่อพูน ฐิตสีโล มีนามเดิมว่า ทองพูน นามสกุล สัญญะโสภี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก) โยมบิดาชื่อแบน โยมมารดาชื่อสมบุญ สัญญะโสภี ณ บ้านสามกอ หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อพูนหรือเด็กชายทองพูนในขณะนั้นได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนศรีรัตนานุกูล หรือปัจจุบันนี้คือโรงเรียนวัดบ้านแพน “ศรีรัตนานุกูล” จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งอายุได้ ๑๔ ปี จึงได้ติดตามหลวงปู่คำปัน พระธุดงค์มาจากจังหวัดลำพูน ขึ้นไปเมืองเหนือเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้กลับมายังบ้านเกิดโดยสำเร็จวิชาด้านโหราศาสตร์กลับมา เมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นายทองพูนจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านแพน จากคำชวนของหลวงพ่อวาสน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพนในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๒ โดยมี พระปลัดแจ่ม วัดโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในปีนั้นเองสามเณรทองพูนก็สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี และหลังจากบรรพชาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยได้ ๓ ปี สามเณรทองพูนจึงได้อุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ปีมะโรง โดยมีพระครูปริยัติคุณูปการณ์ (วาสน์) วัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเกษมคณาภิบาล (หลวงพ่อมี) วัดมารวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิบูลย์ธรรมศาสน์ (หลวงพ่อสังวาลย์)วัดกระโดงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์เวลา ๐๘.๐๐ น. ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตสีโล” จากนั้นจึงได้ตั้งใจสอบนักธรรมชั้นโทและ ชั้นเอกได้สำเร็จภายใน ๒ ปีการศึกษา
การศึกษาพุทธาคม
ในด้านพระเวทย์วิทยาคมหลวงพ่อพูนท่านได้สนใจและได้ศึกษาในเรื่องพุทธเวทย์มหามนต์ซึ่งเป็นศาสตร์แห่ง
“พุทธ” มาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี โดยในเวลานั้นได้ติดตามหลวงปู่คำปัน
พระธุดงค์ที่มาจากภาคเหนือขึ้นไปอาศัยอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑ ปี
จึงได้กลับมาบ้านเกิดพร้อมทั้งตำราการดูดวงที่ถือได้ว่าแม่นยำอย่างหาใครเปรียบได้ยาก
ไม่เพียงแค่นั้นหลวงพ่อพูนท่านยังได้ฝึกเรียนกรรมฐานกับอาจารย์พริ้งฆราวาสจอมขมังเวทย์ในย่านบ้านแพน
และได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำน้ำมนต์มาจากอาจารย์พริ้งจนจบหลักสูตรวิชา
จึงเป็นเหตุให้น้ำพระพุทธมนต์ที่หลวงพ่อพูนทำขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
สามารถใช้ขับไล่ภูตผี ปีศาจ เสนียดจัญไรได้อย่างชะงัดนอกจากอาจารย์พริ้งแล้วหลวงพ่อพูนยังได้ร่ำเรียนวิชามาจากอาจารย์ลพ เกตุบุตร ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน และเป็นศิษย์เอกของอาจารย์จาบแห่งตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยหลวงพ่อพูนได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อมักใช้จารลงในแผ่นยันต์หรือแหวนอยู่เสมอ ๆ สำหรับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์นั้น หลวงพ่อพูนได้ศึกษาวิชามาจากหลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จนมีความเชี่ยวชาญด้านพระเวทย์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาพระคาถาชินบัญชรอันลือลั่นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่แม้ว่าหลวงพ่อมีจะมีความเชี่ยวชาญในพระคาถานี้อย่างหาผู้ใดเทียบได้ยาก เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังชมหลวงพ่อพูนว่า “มีความเชี่ยวชาญพระคาถาชินบัญชรมากกว่าท่าน” มูลเหตุของการเรียนตะกรุดดอก(ไม้)ทอง มูลเหตุในการเรียนวิชาการทำตะกรุดของหลวงพ่อพูนนั้น คงสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงพ่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์ คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน ในวันหนึ่งมีพระในวัดที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ซึ่งกำลังจะลาสิกขาได้มากราบลาหลวงพ่อพร้อมกับเอ่ยปากขอของดีจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านจึงดุไปว่าตัวท่านเองนั้นไม่มีวิชาอะไรและจะเอาของดีที่ไหนมาให้ ต่อมาหลวงพ่อท่านทราบว่าที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีพระอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางด้านการทำตะกรุดดอกทอง นั่นก็คือหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเขียว ว่ากันว่าฉี่ของหลวงพ่อเขียวใครดื่มกินเข้าไปจะอยู่ยงคงกระพัน และเคยมีการทดลองนำปืนมายิงใส่ฉี่ของท่านปรากฏว่ายิงไม่ออกจริง ๆ วันหนึ่งหลวงพ่อสนั่นท่านได้รับกิจนิมนต์ให้มาเทศน์ที่วัดบ้านแพน หลวงพ่อพูนก็เข้าไปกราบนมัสการท่านและก็เลยถือโอกาสขอเรียนวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่น ตอนแรกที่ขอเรียนวิชานั้นหลวงพ่อสนั่นท่านไม่ให้ แต่พอสนทนากับท่านนานเข้า หลวงพ่อสนั่นจึงหลุดปากบอกกับหลวงพ่อพูนว่าถ้าอยากได้ให้ไปหาท่านที่วัดเสาธงทอง อยู่ต่อมาจนวันหนึ่งหลวงพ่อพูนท่านมีธุระต้องไปที่วัดเสาธงทอง ท่านจึงนึกได้ว่าเคยขอวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่นไว้ท่านจึงได้ไปร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทองจากหลวงพ่อสนั่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สร้างพระครั้งแรก
หลวงพ่อพูนเริ่มต้นสร้างพระเป็นครั้งแรกเมื่อบวชได้ประมาณพรรษา ๑๐
เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรนอกจากสวดมนต์และทำงานวัด
แต่เดิมหลวงพ่อท่านตั้งใจจะไปเรียนบาลีที่กรุงเทพ ฯ
แต่หลวงพ่อวาสน์ท่านไม่อนุญาตให้ไปหลวงพ่อพูนจึงต้องล้มเลิกความตั้งใจนั้น
หลวงพ่อเริ่มสร้างพระครั้งแรก โดยนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระสังกัจจายน์แล้วนำไปเผาไฟ
ครั้งแรกที่เผานั้นปรากฏว่าแตกละเอียดไม่มีชิ้นดี เพราะไม่มีประสบการณ์
จึงทดลองทำไปเรื่อย ๆ
ปรากฏว่าได้เคล็ดวิชาว่าถ้าอยากให้พระดีและสวยต้องสวดมนต์กำกับด้วย แน่นอนได้ผล
พระสังกัจจายน์รุ่นต่อมาเนื้อคมสวยต่อมาพระที่อยู่ในวัดเดียวกัน ชวนสร้างพระเพื่อหารายได้ไปซ่อมแซมกำแพงโบสถ์ที่ผุพัง เนื่องจากสมัยก่อนการก่อสร้างกำแพงเพียงแค่นำดินเหนียวมาผสมกับหนังวัวหนังควายแล้วกระดาษฟางกวนให้เหนียว ไม่ได้ใช้ปูนเหมือนในปัจจุบันนี้ ก็เลยไปขออนุญาตจากหลวงพ่อวาสน์ ท่านอนุญาต ก็เลยนำพระที่ปั้นได้ประมาณ ๑ พันองค์ไปเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดโคกเสือ และได้นำมาให้เช่าบูชา ปิดทององค์ละ ๒๒ บาท ธรรมดา ๑๐ บาทได้เงินมาก็นำไปซ่อมกำแพงและถมดินข้างวัดตามวัตถุประสงค์
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน
ปี พ.ศ. ๒๕๒๗
หลังจากที่หลวงพ่อพระครูปริยัติคุณูปการ(วาสน์)ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน
เพราะในขณะนั้นท่านชราภาพมาก ท่านมีอายุถึง ๘๕ ปี
ท่านจึงมอบตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนให้กับหลวงพ่อพูน
งานแรกที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์ภายหลังจากที่รับเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนแล้วคือ
การสร้างกุฏิพระจำนวน ๘ ห้อง
“จำได้ว่าหลวงพ่อวาสน์เรียกให้ไปหาบนหอปริยัติคุณูปการณ์แล้วหยิบเงินให้มา ๓ แสนบาท
บอกให้ไปสร้างกุฏิให้สำเร็จเพราะจะได้มีผลงาน
เราก็มานั่งนึกว่าจะทำได้หรือรับเงินมาแล้วก็มานั่งกอดเข่าเป็นทุกข์อยู่นาน
เวลาผ่านไปหลายวันสติเริ่มมีจึงได้เรียกเพื่อนที่เป็นช่างก่อสร้างมาตกลงเรื่องราคาการสร้างกุฏิ
ทำกันต่อหน้าหลวงพ่อวาสน์นั่นแหละ
กันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าแรงบ้างค่าวัสดุอุปกรณ์บ้าง
แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่จะบูรณะวัดบ้านแพน
หลวงพ่อจึงได้นำวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทอง
ที่ได้ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อสนั่นนั่นแหละมาช่วย เพราะลำพังเพียงเงิน ๓
แสนบาทคงทำกุฏิได้ไม่สำเร็จ ตั้งแต่นั่นเป็นต้นมาตะกรุดดอก(ไม้)ทอง
ก็เป็นที่สนใจของประชาชนมาเช่าบูชากันเป็นจำนวนมาก
ทำให้ได้เงินมาสร้างกุฏิจนแล้วเสร็จพร้อมกับสร้างเพิ่มอีก ๘ ห้อง
และได้นำเงินมาสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดบ้านแพน
ดังที่เห็นความเจริญรุ่งเรืองของวัดบ้านแพนในปัจจุบันนี้
งานการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อพูนบวชได้เพียง ๔ พรรษา คือ ในพ.ศ. ๒๔๙๙
ก็ได้รับการมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน
และเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนในขณะนั้น ให้หลวงพ่อเป็นพระกรรมวาจาจารย์
คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญ ๆ
ที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อวาสน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน คือ พ.ศ. ๒๔๙๙
ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน พ.ศ. ๒๕๑๓
ได้รับการมอบหมายให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
เนื่องจากหลวงพ่อพระครูปริยัติคุณูปการณ์ (วาสน์) ท่านชราภาพมาก ท่านมีอายุถึง ๘๕
ปี ท่านจึงได้รับการยกฐานะเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์
หลวงพ่อพูนท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพนต่อจากหลวงพ่อวาสน์มาจนถึงปัจจุบันนี้ภายหลังจากที่หลวงพ่อพูนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ท่านได้ปกครองดูแลวัดและทำการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดบ้านแพนให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด จนในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ หลวงพ่อจึงได้รับพระมหากรุณาฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท (จร.ชท.) ในราชทินนามที่ “พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ” วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท และมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน พระอุปัชฌาย์
สำหรับงานและภาระหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเสนานั้น ท่านได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ดังนี้ คือ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุวรรณาราม เจ้าคณะภาค ๒ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเสนา พ.ศ. ๒๕๔๓ ในปีนี้หลวงพ่อพระครูเสนาคณานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเสนาในขณะนั้นท่านได้ลาออกจากตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงมอบหมายให้หลวงพ่อเป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเสนา และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเสนา ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลวงพ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก (จอ.ชอ.)
สำหรับงานในหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเสนาในปัจจุบันนี้ หลวงพ่อต้องรับภาระหน้าที่ดูแลวัดจำนวน ๓๓ วัด โดยแบ่งการปกครองเป็น ๖ ตำบล มีพระภิกษุในพรรษา ๔๑๑ รูป นอกพรรษา ๓๓๗ รูป มีพระครูสัญญาบัตร ๑๘ รูป พระอุปัชฌาย์ ๑๐ รูป พระทรงปาฏิโมกข์ ๓๘ รูป พระมหาเปรียญธรรม ๗ รูป มีการประชุมคณะสงฆ์ ทุก ๆ ๒ เดือน คือ ประชุมในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน คี่